วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช



          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ประสูติ: 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470) เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันแห่งประเทศไทย และพระมหากษัตริย์ลำดับที่เก้าแห่งราชวงศ์จักรี เสด็จสู่พระราชสมบัติตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ขณะนี้ จึงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เสวยราชย์นานที่สุดในโลกที่มีพระชนมชีพอยู่ และยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
          พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทรงมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากระบอบทหารเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยได้โดยตลอดรอดฝั่งในช่วงพุทธทศวรรษที่ 2530 และได้ทรงหยุดยั้งการกบฏ เช่น ในคราวปี 2524 และปี 2528 กระนั้น ก็ได้ทรงแต่งตั้งหัวหน้าคณะยึดอำนาจหลายคณะ เช่น จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในช่วงพุทธทศวรรษที่ 2500 กับพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ในช่วงปลายพุทธทศวรรษที่ 2540 ตลอดรัชสมัยของพระองค์จนถึงปี พ.ศ. 2555 ได้เกิดการรัฐประหารโดยกองทัพมากกว่า 15 ครั้ง รัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ และนายกรัฐมนตรี 28 คน
          ประชาชนชาวไทยจำนวนมากเคารพพระองค์ อนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะและผู้ใดจะละเมิดมิได้ ส่วนประมวลกฎหมายอาญาว่า การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์เป็นความผิดอาญา คณะรัฐมนตรีหลายชุดที่ได้รับการเลือกตั้งมาก็ถูกคณะทหารล้มล้างไปด้วยข้อกล่าวหาว่านักการเมืองผู้ใหญ่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กระนั้น พระองค์เองได้ตรัสเมื่อปี 2548 ว่า สาธารณชนพึงวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ได้
          พระองค์ทรงเป็นที่สรรเสริญในประเทศไทยเกี่ยวกับพระราชดำริในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โคฟี แอนนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์แด่พระองค์ กับทั้งพระองค์ยังทรงเป็นเจ้าของสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ งานพระราชนิพนธ์ และงานดนตรีจำนวนหนึ่งด้วย ด้านสินทรัพย์ของพระองค์ ประเมินว่า พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ รวมถึงสินทรัพย์ที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จัดการอยู่นั้น มีมากกว่าสามหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐทั้งได้จัดอันดับให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีพระราชทรัพย์มากที่สุดในโลก 3 ปีติดต่อกันมาจนปัจจุบัน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้นใช้สินทรัพย์เพื่อสวัสดิการสาธารณะ เช่น เพื่อพัฒนาเยาวชน แต่ได้รับการยกเว้นมิต้องจ่ายภาษีและให้เปิดเผยการเงินต่อพระมหากษัตริย์แต่ พระองค์เดียว ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็ได้ทรงอุทิศพระวรกายและพระ ราชทรัพย์ไปในโครงการพัฒนาประเทศไทยหลายต่อหลายโครงการ โดยเฉพาะในทางเกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การส่งเสริมอาชีพ ทรัพยากรน้ำ สวัสดิการทางคมนาคม และสวัสดิการสาธารณะ อนุสรณ์ถึงพระองค์นั้นพบได้ดาษดื่นในสื่อมวลชนไทย
          นับตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2552 พระองค์แปรพระราชฐานจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ไป โรงพยาบาลศิริราช อันเนื่องมาจากพระโรคไข้หวัดและพระปัปผาสะอักเสบ ตราบจนปัจจุบัน ในเดือนตุลาคม ปีเดียวกันนั้น ข่าวลือว่าพระอาการประชวรทรุดหนักลง ได้ยังให้ตลาดหุ้นไทยร่วงลงอย่างสาหัส
พระราชประวัติ
     ทรงศึกษา
          พ.ศ. 2475 เมื่อเจริญพระชนมายุได้สี่พรรษา เสด็จเข้าศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอี จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2476 จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เพื่อการศึกษาและพระพลานามัยของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซาน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2477 ทรงศึกษาวิชา ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ แล้วทรงเข้าชั้นมัธยมศึกษา ณ "โรงเรียนแห่งใหม่ของซืออีสโรมองด์" (ฝรั่งเศส: École Nouvelle de la Suisse Romande, เอกอล นูแวล เดอ ลา ซืออีส โรมองด์) เมืองแชลลี-ซูร์-โลซาน (ฝรั่งเศส: Chailly-sur-Lausanne)
          เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ก็ได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น "สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดช" เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478
          เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ได้โดยเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัตประเทศไทย เป็นเวลา 2 เดือน โดยประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้นเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์จนถึงปี พ.ศ. 2488 ทรงรับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ จากโรงเรียนยิมนาส คลาซีค กังโตนาล แล้วทรงเข้าศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซานแผนกวิทยาศาสตร์ โดยเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
     ทรงประสบอุบัติเหตุ
          หลังจากที่จบการศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์เสด็จไปเยือนกรุงปารีส ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ซึ่งเป็นลูกสาวของเอกอัครราชทูตไทยประจำฝรั่งเศส เป็นครั้งแรก ในขณะนี้ ทั้งสองพระองค์มีพระชนมายุ 21 พรรษาและ 15 พรรษาตามพระลำดับ
          เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ในระหว่างเสด็จประทับยังต่างประเทศ ขณะที่พระองค์ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเฟียส ทอปอลิโน จากเจนีวาไปยังโลซานทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ กล่าวคือ รถยนต์พระที่นั่งชนกับรถบรรทุกอย่างแรง ทำให้เศษกระจกกระเด็นเข้าพระเนตรขวา พระอาการสาหัส หลังการถวายการรักษา พระองค์มีพระอาการแทรกซ้อนบริเวณพระเนตรขวา แพทย์จึงถวายการรักษาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง หากแต่พระอาการยังคงไม่ดีขึ้น กระทั่งวินิจฉัยแล้วว่าพระองค์ไม่สามารถทอดพระเนตรผ่านทางพระเนตรขวาของ พระองค์เองได้ต่อไปแล้ว จึงได้ถวายการแนะนำให้พระองค์ทรงพระเนตรปลอมในที่สุด
          ทั้งนี้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการเป็นประจำจนกระทั่งหายจากอาการประชวร อันเป็นเหตุที่ทำให้ทั้งสองพระองค์มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่ นั้นเป็นต้นมา
     เสวยราชย์และทรงอภิเษกสมรส
          วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมานภายในพระบรมมหาราชวง ในวันเดียวกันนั้นเอง รัฐสภาได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ในการที่จะอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นพระอนุชาร่วมพระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงทรงอำลาประชาชนชาวไทย เสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่เปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์ ไปเป็นสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสร์ ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับตำแหน่งประมุขของประเทศ และครองราชย์ยาวนานที่สุดในประเทศไทย
          เดิมทีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะทรงครองราช สมบัติแต่ในช่วงการจัดงานพระบรมศพของพระบรมเชษฐาเท่านั้น เพราะยังทรงพระเยาว์และไม่เคยเตรียมพระองค์ในการเป็นพระมหากษัตริย์มาก่อน เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับรถพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไป ยังสนามบินดอนเมือง เพื่อทรงศึกษาเพิ่มเติมที่สวิตเซอร์แลนด์ ก็ทรงได้ยินเสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนว่า "ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน" จึงทรงนึกตอบในพระราชหฤทัยว่า "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักในหน้าที่พระมหากษัตริย์ของพระองค์ ดังที่ได้ตรัสตอบชายคนเดิมนั้นในอีก 20 ปีต่อมา
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 และเสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครในปีถัดมา โดยประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ต่อมาวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ภายในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
          วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ในโอกาสนี้พระองค์ทรงพระราชดำริว่า ตามโบราณราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรม ราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรม ราชินี ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
ผนวช
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ออกผนวชเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ทรงได้รับฉายาว่า ภูมิพโลภิกขุ หลังจากนั้น พระองค์เสด็จฯ ไปประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหารระหว่างที่ผนวชนั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ในปีเดียว
เหตุลอบปลงพระชนม์
          เดือนกันยายน พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจในจังหวัดภาคใต้ ซึ่งในวันที่ 22 กันยายน 2520 ขณะทั้งสี่พระองค์กำลังปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สวนสาธารณะเทศบาลเมืองยะลา จังหวัดยะลา ซึ่งมีประชาชนมาเฝ้ารับเสด็จฯราว 30,000 คน ก็ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้น 2 ลูกภายในปะรำพิธี ซึ่งเป็นความพยายามในการลอบปลงพระชนม์ ซึ่งเป็นการดำเนินการขององค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี จากเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 55 คน บาดเจ็บสาหัส 11 คน ไม่มีพระองค์ใดทรงรับบาดเจ็บ
          ทั้งนี้ก่อนหน้าเหตุระเบิดราวราว 20 ชั่วโมง ก็ได้มีตำรวจขับรถจักรยานยนต์ฝ่าสัญญาณไฟจราจรพุ่งชนรถยนต์พระที่นั่งจนเกิดไฟลุกท่วม
สถานะพระมหากษัตริย์
         ตามรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน พระองค์ทรง "ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้"
         ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี" แต่พระองค์เคยมีพระราชดำรัสในวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2548 ว่า "...แต่ว่าความจริง ก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน แล้วก็ไม่กลัวถ้าใครจะวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้น ๆ จะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน ไม่วิจารณ์เราก็กลัวเหมือนกัน ถ้าบอกไม่วิจารณ์แปลว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ดี รู้ได้อย่างไร ถ้าเขาบอกว่า ไม่ให้วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัว เพราะพระเจ้าอยู่หัวดีมาก ไม่ใช่อย่างนั้น ...ฉะนั้น ที่บอกว่าการวิจารณ์ เรียกว่าละเมิดพระมหากษัตริย์ ให้ละเมิดได้ แต่ถ้าเขาละเมิดผิด เขาก็ถูกประชาชนบ้อม คือ ขอให้รู้ว่าเขาวิจารณ์อย่างไร ถ้าเขาวิจารณ์ถูกก็ไม่ว่า แต่ถ้าวิจารณ์ผิด ไม่ดี แต่เมื่อบอกไม่ให้วิจารณ์ ละเมิดไม่ได้ เพราะ รัฐธรรมนูญว่ายังงั้น ลงท้าย พระมหากษัตริย์ก็เลยลำบาก แย่ อยู่ในฐานะลำบาก"
        พระองค์ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า "สมเด็จพระภัทรมหาราช" หมายความว่า "พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐยิ่ง" ต่อมาในปี 2539 มีการถวายใหม่ว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช" และ "พระภูมิพลมหาราช" อนุโลมตามธรรมเนียมเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า "พระปิยมหาราช" พระองค์ทรงเป็นที่สักการบูชาของชาวไทยจำนวนมาก แต่ถึงกระนั้นอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เคยแสดงทัศนะว่า มีขบวนการอันเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่พยายามล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
        ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกพระองค์ว่า "ในหลวง" ซึ่งคาดว่าย่อมาจาก "ใน (พระบรมมหาราชวัง) หลวง" หรืออาจออกเสียงเพี้ยนมาจากคำว่า "นายหลวง" ซึ่งแปลว่าเจ้านายผู้เป็นใหญ่
พระราชกรณียกิจ พระราชนิพนธ์ และผลงานอื่น
     ด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณคดี
          ในฐานะที่พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถในศิลปะแขนงต่าง ๆ หลายแขนง จึงทรงได้รับการยกย่องให้เป็นองค์อัครศิลปินแห่งชาติและบิดาแห่งการดนตรี พระองค์ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการฝึกเขียนภาพ และมีพระปรีชาสามารถในเรื่องการถ่ายภาพ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีพระปรีชาสามารถปั้นพระพุทธรูปพระสมเด็จจิตรลดาด้วยพระองค์เอง
          งานทางด้านวรรณศิลป์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเชี่ยวชาญในภาษาหลากหลายภาษา ทรงพระราชนิพนธ์บทความ แปลหนังสือ เช่น นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระมหาชนก และพระมหาชนก ฉบับการ์ตูน เรื่อง ทองแดง เป็นพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง เป็นต้น
     ด้านการพัฒนาชนบท
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทุกหนแห่งไม่ว่าดินแดนแห่งนั้นจะทุรกันดารเพียงใด ไม่ว่าใกล้ไกลแค่ไหน พระองค์จัดทำโครงการพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริควบคู่ไปในทุกๆ ด้าน ไม่เน้นด้านใดด้านหนึ่ง พระองค์มีจุดประสงค์เดียวคือ เพื่อขจัดความทุกข์ยากของชาวชนบท และสนับสนุนส่งเสริมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งแก้ปัญหาสังคมเมืองให้ดีขึ้น โดยจะเห็นได้จากโครงการในพระราชดำริหลายโครงการที่เกิดขึ้นจากความรับผิดชอบ ของหน่วยงานต่างๆ
          โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจะเป็นโครงการเกี่ยวกับปรับปรุงถนนหนทาง การก่อสร้างถนนเพื่อการ สัญจรไปมาได้สะดวกและทั่วถึง การคมนาคมเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ สำคัญของการนำความเจริญไปสู่ชนบท การสื่อสาร ติดต่อที่ดียังผล สำคัญทำให้เศรษฐกิจของราษฎรในพื้นที่ดีขึ้น ราษฎรก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในการพัฒนาชนบทนั้น การคมนาคม เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่จะมองข้ามไปเสียมิได้ เพราะเป็นเสมือนประตูเชื่อม ระหว่างในเมือง และชนบท ดังนั้น การที่จะเริ่มโครงการพัฒนาใดๆ นั้นจะต้องเริ่มจากการปรับปรุง และการก่อสร้างถนนหนทางเป็นการเปิดประตูนำความเจริญเข้าไปสู่พื้นที่
     ด้านการเกษตรและชลประทาน
          ในด้านการเกษตร จะทรงเน้นในเรื่องของการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชสมุนไพร รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช และพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งแต่ละโครงการจะเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีราคาถูก ใช้เทคโนโลยีง่าย ไม่สลับซับซ้อน เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ นอกจากนี้ ยังทรงพยายามไม่ให้เกษตรกรยึดติดกับพืชผลทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว เพราะอาจเกิดปัญหาอันเนื่องมาจากความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ หรือความแปรปรวนทางการตลาด แต่เกษตรกรควรจะมีรายได้จากด้านอื่นนอกเหนือไปจากการเกษตรเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อจะได้พึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง
           การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทาน นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ ของประเทศ เพราะเกษตรกรจะสามารถทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอ และไม่เพียงพอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่ง น้ำมากกว่าโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริประเภทอื่น
     ด้านการแพทย์
          โครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้กับประชาชนในระยะแรกๆ ล้วนแต่เป็นโครงการด้านสาธารณสุข เพราะพระองค์ทรงเห็นว่า หากประชาชนมีร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง จะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี และส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดีไปด้วย พระองค์จึงทรงให้ความสำคัญกับงานด้านสาธารณสุขเป็นอย่างมาก ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฏรตามท้องที่ต่างๆ ทุกครั้ง จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่างๆ และล้วนเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิด พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ครบครัน พร้อมที่จะให้การรักษาพยาบาลราษฎรผู้ป่วยไข้ได้ทันที
            นอกจากนั้น ยังมีโครงการทันตกรรมพระราชทาน ซึ่งเป็นพระราชดำริที่ให้ทันตแพทย์อาสาสมัคร ได้เดินทางออกไปช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟัน แก่เด็กนักเรียนและราษฎรที่อาศัยอยู่ในท้องที่ทุรกันดาร และห่างไกลจากแพทย์ทั่วทุกภาค โดยให้การบริการรักษาโรคฟัน โดยไม่คิดมูลค่า ทางด้านหน่วยแพทย์หลวงที่จะต้องตามเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่ประทับแรมทุกแห่งนั้น จะมีเจ้าหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลราษฎร ผู้มาขอรับการรักษา ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่ประการใด นอกจากนั้น หน่วยแพทย์หลวงยังจัดเจ้าหน้าที่ออกเดินทาง ไปรักษาราษฎรผู้ป่วยเจ็บ ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปอีกด้วย
     ด้านการศึกษา
          นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เพื่อสนับสนุนทางด้านคัดเลือกบัณฑิตในสาขาวิชาต่างๆ ไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อจะได้ให้บัณฑิตเหล่านั้นนำความรู้ที่ได้ไปศึกษาวิจัยนำผลงานที่ได้กลับ มาพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยพระองค์ออกทุนให้ตลอดจนดูแลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในต่างประเทศนั้นๆ อีกด้วย
          ส่วนในประเทศทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการจัดการบริหารทางการศึกษา แบบให้เปล่าตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในลักษณะทั้งอยู่ประจำและไปกลับ แบ่งเป็น โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 26 โรงเรียน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ จำนวน 14 โรงเรียน
     ด้านการกีฬา
          เรือใบเป็นกีฬาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเป็นพิเศษ พระองค์ทรงเป็นตัวแทนของประเทศไทยลงแข่งเรือใบในกีฬาแหลมทงครั้ง ที่ 4 ระหว่างวันที่ 9-16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยทรงเข้าค่ายฝึกซ้อมตามโปรแกรมการฝึกซ้อม และทรงได้รับเบี้ยเลี้ยงในฐานะนักกีฬา เช่นเดียวกับนักกีฬาคนอื่น ๆ ในที่สุด ด้วยพระปรีชาสามารถ พระองค์ทรงชนะเลิศเหรียญทอง และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทองจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ท่ามกลางความปลื้มปีติของพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ และเป็นที่ประจักษ์แก่ชนทั่วโลก ทำให้พระอัจฉริยภาพทางกีฬาเรือใบของพระองค์ที่ยอมรับกันทั่วโลก พระองค์ยังได้ทรงออกแบบและประดิษฐ์เรือใบยามว่างออกมาหลายรุ่น พระองค์พระราชทานนามเรือใบประเภทม็อธ (Moth) ที่ทรงสร้างขึ้นว่า เรือใบมด เรือใบซูเปอร์มดและ เรือใบไมโครมด ถึงแม้ว่าเรือใบลำสุดท้ายที่พระองค์ทรงต่อคือ เรือโม้ค (Moke) เมื่อ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 เรือใบซูเปอร์มดยังถูกใช้แข่งขันในระดับนานาชาติที่จัดในประเทศไทยหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายคือเมื่อ พ.ศ. 2528 ในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13
     ด้านดนตรี
          งานทางด้านดนตรี พระองค์ทรงรอบรู้เรื่องดนตรีเป็นอย่างดีและทรงดนตรีได้หลายชนิด เช่น แซ็กโซโฟน คราริเน็ต ทรัมเป็ต กีตาร์ และเปียโน โปรดดนตรีแจ๊สเป็นอย่างมาก และพระองค์ได้ประพันธ์เพลงที่มีความหมายและไพเราะหลายเพลงด้วยกัน เช่น เพลงพระราชนิพันธ์แสงเทียน เป็นเพลงแรก สายฝน ยามเย็น ใกล้รุ่ง ลมหนาว ยิ้มสู้ ค่ำแล้ว ไกลกังวล ความฝันอันสูงสุด และเราสู้ หรือจะเป็นพรปีใหม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของชาวไทย เป็นต้น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น